ศาลาตั้งรูปนายนก
รูปนายนก เป็นหินสลักตั้งอยู่ในศาลาเล็ก ติดกำแพงด้านนอกหน้าพระอุโบสถ ทางใต้ซุ้มประตูยอดมงกุฎ ประวัติของนายนกผู้นี้ กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ว่า
“เมื่อ ณ วันพุธ เดือนเจ็ด แรมเจ็ดค่ำ (พ.ศ.๒๓๕๙) วันนั้นฝนตกหนัก ตั้งแต่เวลาพลบจนสิบเอ็ดทุ่มจึงหยุด ครั้นเวลาเช้าชายหญิงจึงมาเห็นนายนก เผาตัวอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ที่หน้าพระอุโบสถเก่าวัดแจ้ง แต่ไฟนั้นดับแล้ว มีความเล่าไว้ว่าเมื่อก่อนประมาณเดือนเศษ นายนกได้บอกแก่ญาติมิตรชาวบ้านที่ชอบกันว่า นายนกจะประพฤติสุจริต ทำบุญรักษาศีลตั้งจิตปรารถนานิพพานธรรม แต่นั้นมานายนกก็ปฏิบัติมักน้อย ละบ้านเรือนญาติมิตรเสีย ออกไปสมาทานศีล เจริญภาวนารักษาจิตอยู่ในการเปรียญเก่าวัดแจ้ง จะได้เป็นกังวลด้วยการบำรุงกายแลกิจที่จะบริโภคนั้นหามิได้ เมื่อใครจะมีน้ำใจให้อาหารก็ได้บริโภคบ้าง ลางทีไม่ได้บริโภค อดอาหารมื้อหนึ่งบ้าง ลางวันก็ไม่ได้บริโภค ทรมานตนมาจนวันเผาตัวตาย เมื่อนายนกจะเผาตัวนั้นจะได้บอกกล่าวญาติมิตรผู้หนึ่งผู้ใดหามิได้ คนทั้งปวงเมื่อเห็นศพนายนก ก็พากันทำบุญสักการบูชาศพนายนกเป็นอันมาก” (๑)
นายนก
(๑) ดู – พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑-๔ เล่ม ๑ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) สำนักพิมพ์ศรีปัญญา พิมพ์เมื่อ
พ.ศ. ๒๕๕๕ หน้า ๕๑๑